



นกกินปลีหางยาวเขียว
(Green-tailed sunbird)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aethopyga nipalensis
เขตแพร่กระจาย : เนปาล ภูฐาน อินเดีย อินโดจีน ไทย เมียนม่าห์ คาบสมุทรมาลายู หมู่เกาะนิโคบาร์ เกาะสุลาเวสี เกาะบอร์เนียว
ลักษณะทั่วไป : ตัวผู้จะมีหน้าผาก หัว ท้ายทอย ส่วนบนสีเขียวเข้มเป็นมัน คาง ใต้คอสีเขียวเข้ม แต่บริเวณขนคลุมหูจะมีสีคล้ำออกดำ
ด้านข้างของคอ หลังส่วนบนและส่วนกลาง สีแดงอมน้ำตาล ขนคลุมปีก ไหล่ และหลังส่วนล่างสีเขียวแกมเทาหม่นๆ ปีกสีคล้ำๆ
มีตะโพกสีเหลืองสด ขนคลุมบนโคนหางและส่วนของโคนขนหางคู่กลางซึ่งเป็นขนคู่บนสุดมีสีเขียวเข้มเป็นมันแบบสีของขนนกยูง
ขนหางคู่กลางส่วนปลาย และ ขนหางคู่อื่นๆ เป็นน้ำเงินเข้มเกือบดำหน้า อกตอนบนเป็นสีเหลืองเข้มแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม
ที่หน้าอกตอนล่างและท้องตอนบน แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเข้มอีกครั้งที่ท้องตอนล่างและขนคลุมใต้โคนหาง แต่บริเวณสีข้างจะออก
สีเขียวอ่อนเล็กน้อย ปาก ขา และ นิ้วเท้ามีสีคล้ำ นกกินปลีหางยาวเขียวตัวเมียจะมีสีสันที่ไม่สวยสดใสเท่าตัวผู้ คือมีส่วนบนของลำตัว
เป็นสีเขียวอ่อนปนเทา แต่เหลือบสีบรอนซ์เล็กน้อย ส่วนล่างของลำตัวเป็นสีเขียวอ่อนออกเหลือง โดยเฉพาะบริเวณท้อง
และขนคลุมใต้โคนหางจะเหลืองกว่าส่วนอื่น ขนปีกและขนหางสีน้ำตาล แต่ปลายขนหางแต่ละเส้นมีแต้มสีขาวแกมเหลืองอ่อนๆ
เห็นได้ชัดเจน ปาก ขา และ นิ้วเท้า มีสีคล้ำเช่นเดียวกับนกตัวผู้ นกทั้ง 2 เพศมีขนาดจากปลายปากจรดปลายหาง 11 เซนติเมตร
โดยนกตัวผู้จะมีหางยื่นยาวออกไปอีก 3 เซนติเมตร จากการที่มีสีสันสดใสดึงดูดสายตามมากกว่า นกตัวผู้จึงต้องว่องไวปราดเปรียว
กว่านกตัวเมียซึ่งมีสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมมากกว่า
ที่อยู่อาศัยหากิน : บนดอยที่ความสูง 2000 เมตรขึ้นไป
อาหารส่วนใหญ่ : น้ำหวานจากดอกโคมญี่ปุ่น ไม่ก็ดอกกุหลาบพันปีสีสวยในม่านหมอก
ฤดูผสมพันธุ์ : อยู่ในช่วงฤดูร้อนถึงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน
สถานภาพ : เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และ เขานอง เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช
Bird New